TKP HEADLINE

ประวัติเพลงแห่นาคตำบลคลองคะเชนทร์

 ประวัติเพลงแห่นาคตำบลคลองคะเชนทร์

“เพลงแห่นาค” ในพื้นที่อำเภอเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร เป็นเพลงพื้นบ้านปรากฏพบอยู่ในพื้นที่ชุมชนบ้านเมืองเก่า บ้านโรงช้าง บ้านคลองคะเชนทร์ อำเภอเมืองพิจิตร เป็นการร้องประกอบของชาวบ้าน ในจารีตประเพณีการบวชนาค ที่ผู้ชายทุกคนเมื่ออายุครบแล้วจะต้องบวช การบวชถือว่าเป็นการอบรมบ่มนิสัยให้ดีมีศีลธรรม และเป็นการตอบแทนบุญคุณของบิดามารดาผู้ให้กำเนิด เพลงแห่นาคจึงเป็นส่วนหนึ่งในพิธี ที่จะขับร้องเรื่องราวสอนให้ลูกหลานได้ตระหนักถึงคุณธรรม และความกตัญญู แต่เนื่องด้วยปัจจุบันสังคมวัฒนธรรมเปลี่ยนไป การร้องเพลงแห่นาคได้รับความนิยมลดน้อยลงและถูกการละเล่นด้วยดนตรีลูกทุ่ง เครื่องเสียงดนตรีสมัยใหม่เข้ามากลบเสียงการร้องของชาวบ้านกระทั่งลดความสำคัญและบทบาทไป

“เพลงแห่นาค” เป็นเพลงพื้นบ้าน ที่ร้องด้วยสำเนียงเหน่อ ๆ เป็นธรรมชาติตามพื้นเพของท้องถิ่นที่มีการสืบทอดมาอย่างยาวนานจากรุ่นปู่ ย่า ตา ยาย ที่ถ่ายทอดกันแบบง่าย ๆ โดยดำเนินการแบบ “ทำให้ดู ร้องให้ฟัง และจำกันมาร้อง” โดยเนื้อเพลงจะคิดขึ้นกันใหม่เพิ่มเติมได้ตามสถานที่และสถานการณ์ต่าง ๆ รูปแบบลักษณะของเนื้อเพลงเป็นการร้องกล่อมนาคตอนแห่นาคออกจากบ้านไปวัด และตอนแห่เวียน รอบอุโบสถ นอกจากร้องเพื่อความสนุกสนานครื้นเครง เนื้อหาของบทเพลงยังเป็นการอบรมสั่งสอนนาค ก่อนเข้าบรรพชาอุปสมบท ขอความเป็นสิริมงคลจากเทวดา และบางตอนก็ร้องล้อเลียนนาคเกี่ยวกับหญิงคนรักด้วย


วัตถุประสงค์

1 ) เพื่ออนุรักษ์ สืบสาน เพลงแห่นาค ให้คงอยู่สืบไป

2) เพื่อใช้เป็นข้อมูลองค์ความรู้ สำหรับประเพณีแห่นาคของจังหวัดพิจิตร

3) เพื่อให้นาคได้รู้ถึงความกตัญญูกตเวที ต่อบิดา มารดาและบุพการี


กระบวนการ/ขั้นตอน (ทำอย่างไร)

การร้องเพลงแห่นาค ผู้ร้องจะมาร้องเพลงที่งานอุปสมบทของเจ้าภาพด้วยตนเอง โดยไม่ต้องว่าจ้างถือกันว่าเป็นงานบุญเป็นความสามัคคีที่ได้ร่วมแรง ร่วมใจกัน ทำให้พ่อนาคและครอบครัวสุขใจ

เพลงแห่นาคของชุมชนบ้านเมืองเก่า บ้านโรงช้าง บ้านคลองคะเชนทร์ อำเภอเมืองพิจิตร เป็นมรดกทางภูมิปัญญา ที่เป็นองค์ความรู้ การประพฤติปฏิบัติหรือทักษะทางวัฒนธรรมที่แสดงออกผ่านบุคคล เครื่องมือ หรือวัตถุ ซึ่งบุคคล กลุ่มบุคคล หรือชุมชนยอมรับและรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกัน และมีการสืบทอดกัน มาจากคนรุ่นหนึ่งไปยังคนอีกรุ่นหนึ่ง ซึ่งอาจมีการปรับเปลี่ยนตามสภาพแวดล้อมของชุมชนที่มีความหลากหลายและแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น ชุมชน ซึ่งล้วนแต่ทรงคุณค่า และควรค่าแก่การอนุรักษ์ ฟื้นฟูและเผยแพร่ เพื่อให้คนในชุมชน และคนไทยทุกคนได้เรียนรู้และเข้าใจในประวัติศาสตร์ของท้องถิ่น โดยมุ่งเน้นการปลูกฝังให้ทุกคนตระหนักถึงคุณค่าความสำคัญขององค์ความรู้ของเพลงแห่นาค อีกทั้งได้ทำนุบำรุงอนุรักษ์และหวงแหนในมรดกวัฒนธรรมทางภูมิปัญญาอันล้ำค่า ให้ดำรงอยู่สืบไป




ปัจจุบันเพลงแห่นาคไม่มีการบันทึกเรียบเรียงเนื้อเพลงไว้ ยังมีกลุ่มผู้สูงอายุร้องกันอยู่ในโอกาสร่วมทำบุญงานบวชนาค แต่ไม่เป็นที่นิยมทั่วไปแล้ว เนื่องจากไม่ทำให้เกิดการสร้างรายได้ และการจัดงาน ของเจ้าภาพปัจจุบันจะมีวงดนตรีแตรวงเครื่องเสียงเครื่องไฟ และมีนักร้องเพลงลูกทุ่ง ร้องรำกันสนุกสนาน และเสียงดนตรีมีความอึกทึกเร้าใจมากกว่า ทำให้กลบเสียงการร้องเพลงแห่นาคไป จึงได้มีการอนุรักษ์ ฟื้นฟูขึ้น โดยให้มีโอกาสได้ทำการแสดงเผยแพร่ในเวทีต่าง ๆ มากขึ้น การถ่ายทอดหรือการสืบทอดโดยวิธีจำ และเรียนรู้จากรุ่นสู่รุ่น จากพ่อ แม่ ปู ย่า ตา ยาย ญาติพี่น้อง แล้วฝึกร้องเริ่มแรกจะเป็นผู้ร้องรับตามกันก่อน ถ้ามีทักษะสามารถแต่งเนื้อร้องคำกลอนได้ ก็จะเป็นผู้ร้องเพลงนำ ไม่มีการสอนอย่างเป็นระบบ เป็นการฝึกโดยมีความสนใจในแต่ละบุคคล

ปัจจุบันกลุ่มผู้แสดงเพลงแห่นาค ลดน้อยลงเรื่อย ๆ เนื่องจากไม่มีการสืบทอดอย่างเป็นระบบ และแสดงร้องเล่นในโอกาสวาระงานบุญการบวชนาคเท่านั้น ลักษณะการร้องเป็นแบบร้องสด ไม่มีเครื่องดนตรี ซึ่งในอดีตการแห่นาคมีเครื่องดนตรีกลองยาวนำขบวน ปัจจุบันนิยมเครื่องเสียงแตรวงลูกทุ่งมีเสียงที่ดังมาก เป็นเหตุให้การร้องเพลงแห่นาคลดน้อยลงแทบไม่ค่อยได้ยินเสียงการร้อง อ่านเพิ่มเติม




Share this:

Post a Comment

ข้อคิดเห็นจากเครือข่าย TKP

 
Copyright © 2018 ศูนย์ข้อมูลความรู้ประชาชนจังหวัดพิจิตร. Designed by OddThemes > Developed by mediathailand